การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย โดยนักวิจัยชาวไทยที่ได้ออกเดินทางไปสำรวจขั้วโลกเหนือระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคม 2561 และจะปฏิบัติงานบนเรือบริเวณทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2561
เพื่อดำเนินการดำน้ำ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือการวิจัย ในใต้ทะเลอาร์กติก ภายใต้ความร่วมมือของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ และ ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้ร่วมคณะจากประเทศไทย รวม 13 ชีวิต ได้เดินทางด้วยเรือปฏิบัติการ ถึงบริเวณชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก และดำน้ำเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล
ในการสำรวจและสังเกตการณ์ของช่วงฤดูร้อนพื้นที่ขั้วโลกเหนือขณะนี้พบว่าไม่เห็นน้ำแข็งในทะเล ภูเขาน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งมากนัก เทียบกับฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ ยังเห็นแผ่นน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งอยู่จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ขณะเดียวกันยังพบหมีขั้วโลกหันมากินพืชเป็นอาหาร อีกทั้งยังมีปริมาณสาหร่ายและแมงกะพรุนในทะเลเพิ่มขึ้น และพบกวางเรนเดียร์กินสาหร่ายเป็นอาหารมากขึ้น
การเดินทางสำรวจวิจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นการศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่มหาสมุทรอาร์กติกแล้ว ยังเป็นความร่วมมือในการทำวิจัยที่อาร์กติกระหว่างประเทศไทย จีน และราชอาณาจักรนอร์เวย์ รวมถึงสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความตื่นตัว ในผลของภาวะโลกร้อนและขยะทะเลที่มีต่อมหาสมุทรอาร์กติกและโลก ให้กับประชาชนและเยาวชนไทย โดยจะดำเนินการสำรวจวิจัยเสร็จสิ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ทั้งนี้หลังจากคณะวิจัยกลับถึงประเทศไทยจะมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่ได้จากการปฏิบัติงานสู่เยาวชนและประชาชนที่สนใจ
จุดเริ่มต้นโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติก โดยเสด็จฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2536 ทรงทอดพระเนตรการศึกษาวิจัย ของคณะนักวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านชีววิทยา ธรณีวิทยาอุตุนิยมวิทยาและสภาวะแวดล้อม เป็นต้น หลังจากการเดินทาง ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “แอนตาร์กติกา : หนาวหน้าร้อน” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางเยือนประเทศนิวซีแลนด์และทวีปแอนตาร์กติก หรือขั้วโลกใต้ที่ทรงกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ว่า “การผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้า” แอนตาร์กติกา : หนาวหน้าร้อน พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
Bình luận